www.graphicproduce.com
  เพิ่มเพื่อน แผนที่กราฟฟิกโปรดิวซ์ รับทำป้ายโฆษณา

วัดพระธาตุดอยคำ (เชียงใหม่)

WatPhraThatDoiKham

ตั้งอยู่ด้านหลังของพืชสวนโลกทีสวยงาม สามารถมองลงมาชมพืชสวนโลกได้สบายๆสวยงามทีเดียว วัดพระธาตุดอยคำ เป็นอีกวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บนภูเขา(ภาษาเหนือเรียกว่าดอย) ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อยู่ใกล้ๆกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีครับ เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับพระนางเจ้าจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญไชย (ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน) ซึ่งวัดนี้ทุกปีจะมีประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อหรือเจ้าที่

วัดพระธาตุดอยคำสร้างในสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งลำพูนโดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.1230 ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์
และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"ตามประวัติเมื่อ พ.ศ.2509 ขณะวัดนั้นยังเป็นวัดร้าง กรุแตกพบโบราณวัตถุหลายชิ้นอาทิเช่น พระรอดหลวงเป็นพระหินทรายโบราณ ปิดทององค์ใหญ่ พระสามหอม(เนื้อดิน)
และพระคง(เนื้อดิน) ส่วนพระแก้วมรกตประจำองค์พระนางเจ้าจามเทวี หน้าตัก 5 นิ้วมีคำเล่ากันว่ามีชาวบ้านมาพบตอนกรุแตกและได้นำไปบูชาส่วนตัว ไม่สามารถนำกลับมาได้การบูรณะวัดและบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่ พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะวิหารศาลา
  
วัด หุ้มทรงพระเจดีย์ บูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระพุทธนพีสีพิงค์" และล่าสุดในปี พ.ศ.2538 ได้มีพิธีเททองหล่อพระอนุสาวรีย์พระเจ้าจามเทวี ณ ลานวัดพระธาตุดอยคำ และมีพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 ลักษณะศิลปกรรม องค์เจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา รูปแบบเจดีย์ทรงกลม ดัดแปลงมาลัยเถาเป็นเหลี่ยมศิลปกรรมในวัด

วัดพระธาตุดอยคำ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  (พระเกศาธาตุ) มีรอยพระบาทด้วยแต่ยังหาไม่พบ


อันพระธาตุดอยคำนั้นล้ำค่า              สถิตอยู่คู่พารามานานหลาย
เป็นปูชนียสถานพรรณราย                ปวงทวยเทพกราบไหว้แต่ไรมา
เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์มหิทธ์ยิ่ง              เพราะเป็นมิ่งชาวพุทธสุดจักหา
บรรจุพระบรมธาตุจอมศาสดา            ประสาทให้ด้วยหัตถาของพระองค์
เราชาวไทย ต่างกราบไหว้ด้วยใจภักดิ์    ช่วยปกปักป้องไว้ให้สูงส่ง
ช่วยเสริมต่อก่อให้สวยช่วยจรรโลง       เพื่อดอยคำให้ดำรงอยู่คู่ดินฟ้าเอย

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า...สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปพักประทับนอนที่ภูเขาลูกเล็กลูกหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตก พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งใหญ่ประมาณ ๘ กำ สูง ๑๕ ศอก ทรงประทับอยู่เมตตาในที่นั้นตลอดราตรี ในกลางคืนนั้นเทพยดาทั้งหลายก็โสมนัสยินดี จึงบันดาลให้ฝนเงิน ฝนทองคำตกลงมาบูชาพระพุทธองค์ ครั้นสว่างขึ้นมา แก้ว เงิน ทองคำ เหล่านั้นก็หายเข้าไป สู่ใต้ภูเขาลูกเล็กนั้นสิ้น เป็นไปเพราะพุทธานุภาพ เหตุนั้นภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยเขาคำหลวง” (พระธาตุดอยคำ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่)

แล้วพวกเทพยดาทั้งหลายก็กราบทูลขอรอยพระบาทจากพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “สถานที่นี้ ไม่มีที่จะไว้รอยพระบาทตถาคต” พอรุ่งสว่างดีแล้วก็เสด็จไปทางทิศตะวันออก ทรงพบก้อนหินหนึ่งงดงามยิ่ง ทรงประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงทอดพระเนตรดูสถานที่แห่งนั้น แล้วทรงรำพึงว่า “สถานที่นี้ ต่อไปภายหน้าจักเป็นมหานครเมืองใหญ่ จักเป็นที่อยู่แห่งกษัตริย์และคนทั้งหลาย ศาสนาตถาคตจะมาดำรงอยู่ในเมืองที่นี้ เป็นที่รุ่งเรืองยิ่ง จักปรากฏชื่อเสียงไปทั่วทิศ ในเมืองนี้จะมีอารามใหญ่อยู่ ๘ หลัง เหมือนดังที่เคยนั่งภาวนาที่โสฬสสถาน ๑๖ แห่งในเมืองลังกาทวีปนั้นเถิด” ทรงรำพึงเช่นนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นแล้วทรงเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือหินที่ประทับนั่ง ส่วนรอยพระพุทธบาทที่กล่าวในตำนานนั้นได้จมหายไปในพื้นดิน โดยมีเทพเจ้ารักษาไว้ ซึ่งในกาลเบื้องหน้าจักขึ้นมาปรากฏแก่มหาราชทั่วไป

การเดินทางไปวัดพระธาตุดอยคำ เราสามารถเดินทางไปวัดพระธาตุดอยคำได้ ๓ ทางคือ

ทางที่หนึ่ง เข้าทางถนนเลียบคลองชลประทาน แยกจากถนนเชิงดอยบริเวณตลาดต้นพะยอมไปทางทิศใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร วัดพระธาตุดอยคำจะอยู่ด้านขวา

อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ไปตามถนนสาย เชียงใหม่ - ฮอด เป็นระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร จากสี่แยกสนามบิน และมีทางแยกเลี้ยวขวาสู่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๗ เข้าไปอีก ๔ กิโลเมตร ซึ่งจากเส้นทางนี้บริเวณวัดจะอยู่ในเขตของศูนย์ขยายพันธุ์พืช

และเส้นทางที่สาม จากจุดนี้ เราจะเดินทางตามเส้นทางสี่แยกสะเมิง ถนนเชียงใหม่ - หางดง ไปตามเส้นทางเรียบคลองชลประทาน จะมีป้ายบอกข้ามคลองไปทางตำบลแม่เหี๊ยะ ไปทางเดียวกับสวนราชพฤกษ์ หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์วิจัยเกษตรฯ


วัดพระธาตุดอยคำ เดิมชื่อ วัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ" ตั้งอยู่บนยอดเขาดอยคำที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยดอยคำจะตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างดอยเหล็ก ดอยตอง และดอยเงิน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนืออ้อมไปทางทิศตะวันตก มีลำธารกั้นกลาง ทิศใต้จะเป็นดอยแก้ว สำหรับทิศตะวันออกของดอยคำจะเป็นที่อยู่ของปู่แสะย่าแสะ

การเดินทางขึ้นไปวัดพระธาตุดอยคำ
มี ๒ ทาง คือ ทางซ้ายจะเป็นทางขึ้นโดยรถยนต์ ส่วนทางขวาจะเป็นทางเดินขึ้นโดยบันได

ตำนานพระธาตุดอยคำ ซึ่งได้รับการเรียบเรียงขึ้นโดย สุทธวารี สุวรรณภาชน์ สรุปได้ดังนี้

“เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๕๐ ปีเศษ พระองค์ได้นำพระภิกษุอรหันต์พร้อมด้วยพระอินทร์มุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนือผ่าน เมืองบุรพนคร และได้พักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันนี้เป็นสถานที่ตั้งของวัด เจดีย์เหลี่ยม จากนั้นเสด็จต่อไปถึงดอยคำซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ณ ที่นั้น ทรงพบว่ามียักษ์สามตน พ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่และยังชีพด้วยเนื้อมนุษย์หรือเนื้อสัตว์ตลอดมา

ทันทีที่พวกเขาเห็นพระพุทธองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวก ก็หมายจะจับกินเป็นอาหารดังเช่นเคย แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาห้ามจิตกิเลสของพวกเขาให้อ่อนลง จนต้องเข้ามากราบพระองค์ด้วยความยำเกรง จากนั้นพระพุทธองค์ทรงทำนายว่าหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะมียักษ์ตนหนึ่งสามารถปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ได้ ซึ่งหมายถึงยักษ์ผู้เป็นลูกนั่นเอง

เนื่องจากยักษ์ผู้เป็นผัวนามว่า “จิคำ” และผู้เป็นเมียชื่อว่า “ตาเขียว” ไม่สามารถจะรักษาศีลห้าได้ตลอด จึงขออนุญาตพระพุทธเจ้ากินเนื้อมนุษย์ปีละ ๒ หน เมื่อพระองค์ไม่อนุญาตจึงขอเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ แต่พระองค์ก็เลี่ยงให้ไปขอเจ้าผู้ครองนครเอง ซึ่งท่านเจ้าเมืองก็ยินยอม ดังนั้น จึงมีพิธีฆ่าควายเผือกเขาเพียงหูให้ปู่แสะขึ้นที่บริเวณวัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพ และการจัดพิธีฆ่าควายดำเขาเพียงหูให้ย่าแสะที่เชิงดอยคำ จึงมีมาถึงบัดนี้

ภายหลังเมื่อลูกยักษ์ขอบวช พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมให้ฟังพร้อมกับประทานพระเกศาธาตุ ซึ่งทรงอธิษฐานให้เป็นพระธาตุของพระองค์ให้กับพ่อและแม่ของลูกยักษ์ตนนั้น จำนวน ๑ ปอย แล้วบอกทั้งสองรักษาไว้ให้ดี เนื่องจากจะใช้เป็นที่เคารพบูชาแทนพระองค์ได้ และสถานที่แห่งนี้ก็จะเป็นที่ประชุมของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลายในภายภาคหน้า ยักษ์ทั้งสองจึงนำพระธาตุบรรจุไว้อย่างดีในผอบแก้วมรกต จากนั้นได้เกิดศุภนิมิตขึ้น คือมีฝนตกหนักเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน แล้วเม็ดฝนได้กลายเป็นทองคำไหลเข้าสู่ถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกชื่อกันว่า “ถ้ำคำ” ต่อมาไม่นาน ลูกยักษ์ได้ขอลาสิกขาบทเพื่อบวชเป็นฤาษี พระพุทธองค์ทรงอนุญาตพร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า “วาสุเทพฤาษี” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

รูปปู่แสะ - ย่าแสะ

ตำนานพื้นเมือง กล่าวว่า ปู่แสะย่าแสะ เป็นผีบรรพบุรุษของพวกลัวะ มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ กษัตริย์ ขุนนาง และชาวบ้าน จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี พิธีบวงสรวงปู่แสะและย่าแสะ จึงกระทำเป็นประเพณีสืบมา โดยถือเอาวันแรม ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ (เดือน ๙ เหนือ) เป็นวันบวงสรวง แต่ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๘๐ ทางรัฐบาลได้สั่งให้งดพิธีบวงสรวงดังกล่าว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ – ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีนขึ้น จึงมีการฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาอีกในวันเวลาเดิม โดยพิธีจะมีการฆ่าควายดำตัวเดียว แล้วมีคนทรงให้ปู่แสะย่าแสะลงประทับทรง ณ สถานที่ซึ่งทั้งสองสถิตอยู่ คือที่เชิงดอยคำทางทิศตะวันออก

อุโมงค์ใต้ดินจากดอยคำถึงอ่างสลุง
พระแม่เจ้าจามเทวี ทั้งท่านพระสุเทพฤาษี พระพี่เลี้ยงทั้งสอง หมู่ปุโรหิตและขุนนางผู้ใหญ่รวม ๑๐๐ เศษ ได้เสด็จเข้าในอุโมงค์ดอยคำ ตรงไปยังอุจฉุตบรรพต (ดอยสุเทพ) และต่อไปยังดอยอ่างสลุง เพื่อไปกระทำพระราชพิธีทรงน้ำมูรธาภิเษกที่นั้น เมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำเดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศก ๑๒๐๒ (คงใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ - ๓ วันก็ถึงดอยอ่างสลุง)

ขุนแผนกับอุโมงค์ดอยคำ
สมัยที่ขุนแผน ชาวสุพรรณบุรี ยกทัพไปตีเมืองเชียงอินทร์ (คือเชียงใหม่ปัจจุบัน) ผ่านเชียงทอง (อ.จอมทอง) ได้พบทางลับใต้ดินจากดอยจอมทองไปถึงดอยคำ ภายในอุโมงค์ถ้ำดอยคำสามารถบรรจุคนได้ร่วม ๑๐๐ คน ถ้ำนี้เคยเป็นที่อาศัยของปู่แสะย่าแสะ พระฤาษีสุเทพ และพระแม่เจ้าจามเทวีมาแล้ว ขุนแผนได้ใช้เส้นทางลับใต้ดินนี้จากจอมทองเข้าไปจับเมืองเชียงอินทร์ได้ อย่างง่ายดาย โดยมิต้องใช้กำลังรี้พลมากนัก

สำหรับเรื่องนี้ อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ได้ให้ทัศนะว่า ภายในถ้ำจะต้องกว้างขวางคล้ายกับท้องพระโรงใหญ่ เพราะมีข้อความปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า เมื่อครั้งที่ขุนแผนยกทัพมาจับเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ได้เดินทางมาพร้อมกับพระไวยบุตรชายและทหารจำนวน ๓๕ คน แล้วระหว่างทางได้อาศัยถ้ำดอยคำแห่งนี้เป็นที่พักหลบซ่อนตัว ก่อนที่จะเข้าตีเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางกลับ ขุนแผนยังได้พักพลอยู่ที่วัดป่าม่วง เมืองตาก และได้สร้างพระพุทธรูปจำนวนแปดหมื่นสี่พันองค์เพื่อบรรจุไว้ที่ถ้ำดอยคำ ตำนานตอนนี้จึงเป็นการกล่าวถึงการกำเนิดของพระเครื่องชื่อ “พระสามกุมาร” ซึ่งสร้างขึ้นในครั้งนั้น ที่ถ้ำดอยคำนี้ ต่อมามีผู้ยืมของใช้ต่างๆ และเครื่องบวชไปแล้วไม่คืนเทพยดาจึงบันดาลให้มีก้อนหินก้อนใหญ่มาปิดปากถ้ำ เสีย ส่วนที่จอมทองได้สร้างพระเจดีย์ปิดปากอุโมงค์ไปแล้วค่ะ

จากบันไดทางขึ้นดอยคำ ถึงจุดบันไดนาค วัดพระธาตุดอยคำ มีบันไดประมาณ ๓๑๐ ขั้น เราก็เดินขึ้นบันไดนาคกันต่อไปอีก ๑๗๘ ขั้น ก็จะถึงลานจุดชมวิว ซึ่งเป็นลานด้านหน้าวัด และบริเวณก่อนถึงบันไดนาคจะมีกุฏิสงฆ์อยู่ เป็นที่สัปปายะเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมมาก

พระบรมธาตุเจดีย์
วัดพระธาตุดอยคำ

ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระธาตุดอยคำ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา รูปแบบเจดีย์ทรงกลม ดัดแปลงมาลัยเถาเป็นเหลี่ยม ซึ่งเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเกศาของพระพุทธเจ้าพระสมณโคดม ซึ่งสร้างในสมัยพระแม่เจ้าจามเทวี กษัตริย์แห่งลำพูน โดยพระโอรสทั้ง ๒ เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.๑๒๓๐ จ.ศ ๔๙ เมื่อทรงบรรจุพระบรมธาตุสำเร็จแล้ว ทรงอธิษฐานดังที่พระบิดาเลี้ยงของพระองค์รับคำของพระพุทธองค์ว่า หากแม้ว่ายังมิถึงเวลาที่พระบรมธาตุนี้จักรุ่งเรือง โดยมีผู้มีบุญญาธิการต่างๆ มารวมกันแล้ว อย่าได้มีผู้ใดผู้หนึ่งมาสร้างวัดวาอาราม หรือสร้างสถานอย่างหนึ่งอย่างใด หรือมีผู้ทุศีลประกอบด้วยอบายต่างๆ มาอาศัยอยู่ จักทำให้ทรัพย์สิ่งของโบราณวัตถุต้องสูญสลาย เพราะบุคคลเหล่านั้น

ตามพุทธทำนายทรงกล่าวไว้ว่า เมื่อได้กึ่งพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระธาตุนี้จะรุ่งเรืองด้วยการสักการบูชากราบไหว้ ด้วยความเลื่อมใสของปวงชนหาแห่งใดเท่าเทียมมิได้ อาจเป็นด้วยแรงอธิษฐานดังกล่าวแล้ว เมื่อมีผู้สร้างอารามขึ้นภายหลังก็ถูกรื้อถอน และปล่อยร้างไว้หลายยุคหลายสมัยมาแล้ว แม้จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาบูรณะขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ก็เสื่อม โทรมร้างไปอีกเช่นเดิมจวบจนปัจจุบันนี้ ได้มีผู้มีบุญญาธิการต่างๆ เริ่มทำบุญกันมากขึ้นและยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับมา

ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ขณะนั้นวัดพระธาตุดอยคำยังเป็นวัดร้าง กรุแตกพบโบราณวัตถุหลายชิ้นอาทิเช่น พระรอดหลวง เป็นพระหินทรายโบราณ ปิดทอง องค์ใหญ่, พระสามหอม (พระเนื้อดิน) และ พระคง (พระเนื้อดิน) ซึ่งนำมาบูชาไว้ ณ วิหารวัดพระธาตุดอยคำ ส่วนพระแก้วมรกตประจำพระองค์ของพระแม่เจ้าจามเทวี หน้าตัก ๕ นิ้ว เล่ากันว่ามีชาวบ้านมาพบตอนกรุแตก และได้นำไปบูชาส่วนตัวไม่สามารถตามกลับมาให้เป็นที่สักการะแก่สาธุชนได้

มูลเหตุเจดีย์แตกทำให้พบพระพิมพ์
สาเหตุสำคัญคือ พุทธศักราชที่ ๒๕๐๙ ได้เกิดฝนตกหนักคืนหนึ่ง ชาวบ้านได้ยินเสียงดังเหมือนภูเขาถล่ม รุ่งเช้าพบว่าพระเจดีย์เก่าแก่นั้นพังทลายลงมา จึงได้นำความไปบอกพระครูไฝ (พระครูปริยัตยานุรักษ์) วัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ดูแลอยู่ในเวลานั้น พระครูไฝจึงได้เดินทางมาถึง พร้อมกับได้เก็บวัตถุโบราณรักษาไว้ รวมทั้งพระพิมพ์จำนวนมาก บรรจุใส่กระสอบลงมาเก็บไว้ที่วัดพันอ้น และพระครูไฝได้มีความคิดที่จะให้นำเอาพระพิมพ์ออกให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อนำ เงินไปบูรณะเจดีย์ และดอยคำต่อไป

พระพิมพ์ที่พบในครั้งนั้น ได้มีการแบ่งแยกพิมพ์ต่างๆ ออกเป็นหลายๆ ประเภท มีทั้งพระพุทธรูป พระเนื้อชิน และเนื้อดิน พระพุทธรูปส่วนใหญ่เป็นพระอุปคุตจกบาตร พระหินจุยเจีย และพระแก้วสีต่างๆ จำนวนหนึ่ง พระพิมพ์เนื้อชิน เป็นพระลีลาเดียว

วัดพระธาตุดอยคำ จะมีงานประจำปี ๒ ครั้ง ได้แก่ งานสรงน้ำพระบรมธาตุ ซึ่งจะมีขึ้นในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖ ใต้) โดยในงานจะมีการจุดประทีปโคมไฟและบ้องไฟต่างๆ มากมาย และอีกงานหนึ่ง คืองานทานสลากภัตซึ่งจะมีขึ้นในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ใต้) ในงานนี้จะมีงานเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ ซึ่งปัจจุบันใช้ควายดำเขาเพียงหูให้ผ่านร่างคนทรง โดยใช้พื้นที่ด้านทิศตะวันออกของดอยคำเป็นที่ประกอบพิธี

ประวัติขุนหลวงวิรังคะ ใน สมัยที่พระแม่เจ้าจามเทวีปกครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ.๑๓๐๐ ในสมัยนั้นเล่ากันว่า นครหริภุญชัยเป็นนครของชนชาติมอญ หรือเม็ง และในขณะเดียวกันบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ มีขุนหลวงวิรังคะเป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้า ขุนหลวงวิรังคะมีความรักในพระแม่เจ้าจามเทวี มีความประสงค์จะอภิเษกกับพระแม่เจ้าจามเทวี แต่พระแม่เจ้าจามเทวีไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอพระแม่เจ้าจามเทวีอภิเษกด้วย พระแม่เจ้าจามเทวีก็ผลัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ ขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกที่ในเมือง พระแม่เจ้าจามเทวีจึงจะอภิเษกสมรสด้วย

.....แต่ขุนหลวงวิรังคะ ก็ไม่สามารถทำสำเร็จและหนีออกจากเมืองไป ก่อนสิ้นชีวิต ขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ขุนหลวงจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญชัยได้ตลอดเวลา

..….เสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวงได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลงศพได้คว่ำตกลงจากที่หาม เสนาอามาตย์จึงได้ฝังศพของขุนหลวงไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญชัยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง(หล้อง หมายถึง โลงศพ)

ชาวบ้านเล่าว่า ดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ ๓ แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม และอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณดอยคำ อำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันบนยอดดอยมีวัดชื่อว่า วัดพระธาตุดอยคำ
ประวัติพระฤาษีวาสุเทพ ภาย หลังจากที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ลูกยักษ์บวชเป็นพระฤาษีนามว่า วาสุเพทฤาษีแล้ว ฤาษีตนนี้ได้ไปตั้งอาศรมอยู่หลังดอยสุเทพ ตัวปู่แสะอาศัยอยู่บริเวณวัดฝายหินและตัวย่าแสะได้อยู่รักษาถ้ำดอยคำไว้ หลังจากที่ปู่แสะและย่าแสะได้ตายไป วาสุเทพฤาษีจึงเป็นผู้ดูแลถ้ำดอยคำพร้อมกับพระบรมธาตุสืบต่อมา พิธีการเซ่นสรวงบูชาดวงวิญญาณของปู่แสะย่าแสะก็ยังคงมีอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ.๑๑๗๖ วาสุเทพฤาษีองค์ที่ ๘ ได้ทารกเพศหญิงซึ่งมีลักษณะของผู้มีบุญญาธิการมาเลี้ยงไว้ ๑ คน โดยให้ชื่อว่า “วี” เมื่อนางเติบโตขึ้นเป็นพระแม่เจ้าผู้มีสิริโฉมงดงาม พระแม่เจ้าจามเทวียังได้ครองนครหริภุญชัย (เมืองลำพูน) อีกด้วย เมื่อวาสุเทพฤาษีสิ้นไปแล้ว พระแม่เจ้าจามเทวีจึงรับภาระการรักษาดูแลพระบรมธาตุและถ้ำดอยคำสืบต่อมา

ประวัติพระแม่เจ้าจามเทวี วีรสตรีปฐมกษัตริย์กษัตริย์แห่งหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีขึ้นครองราชย์นครหริภุญชัย ระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๒ - ๑๒๓๑ เป็นปฐมกษัตริย์และเป็นต้นราชวงศ์จามเทวี พระองค์ได้ทำการบูรณะรอยพระพุทธบาท พระบรมธาตุเจดีย์ และวัดวาอารามต่างๆ ทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ไว้กับพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย นับจำนวนอารามที่พระแม่เจ้าจามเทวี ได้ทรงสร้างไว้แต่ครั้งอยู่ละโว้ (ลพบุรี) สร้างอารามที่สุโขทัย ละโว้ สวรรคโลก นครงามฟ้า นครสุวรรณบรรพต นครชุมรุม เรื่อยมาจนถึง นครพิสดาร หริภุญชัย ระมิงค์ เขลางค์ แปร รวมได้ ๒,๕๐๐ วัด สร้างกุฏิได้ ๑๐,๐๐๐ หลัง

เมื่อพระแม่เจ้าจามเทวีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา (พ.ศ. ๑๒๓๖) ได้สละเพศลาผนวชเป็นชีผ้าขาวแล้วก็ยุติการสร้าง บำเพ็ญธรรมอย่างเดียว ทั้งพระชนนีปทุมวดี และพระเกษวดี และแม่เลี้ยงก็ออกบวชด้วย แม่ชีจามเทวีได้ถึงแก่มรณะ เมื่อ พ.ศ.๑๒๗๔ พระชนมายุ ๙๘ พรรษา บวชเป็นชีขาวได้ ๓๘ พรรษา ยังความทุกข์โศกเศร้าแก่พศกนิกรมหาชนทั่วนครหริภุญชัยในสมัยนั้นเป็นอย่าง ยิ่ง

ประวัติอนุสาวรีย์พระแม่เจ้าจามเทวี บรมราชินี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย ใน ปี พ.ศ.๒๕๓๘ วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๓๘ ได้มีพิธีเททองหล่อพระอนุสาวรีย์พระเจ้าจามเทวี ณ ลานวัดพระธาตุดอยคำ และมีพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ พร้อมๆ กับทางวัดหุ้มทรงพระเจดีย์ และบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ "พระพุทธนพีสีพิงค์" ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาสักการะเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี

ประวัติความเป็นมาพระพุทธนพีสีพิงครัตน์

พระพุทธนพีสีพิงครัตน์ เป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๒ เมตร สูง ๑๗ เมตร ประดิษฐานอยู่บนวัดพระธาตุดอยคำ ตำบลแม่เหี้ย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดสร้างโดยทายาทเจ้าแม่อินหวัน ณ เชียงใหม่ รวมทั้ง ผู้มีจิตศรัทธาในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง พุทธสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับเจ้าภาพ ได้จัดงานฉลองสมโภชพุทธาภิเษกพระพุทธรูป เมื่อวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔

พระพุทธนพีสีพิงครัตน์ ริเริ่มสร้างโดย ทายาทของเจ้าแม่อินหวัน ณ เชียงใหม่ โดยเจ้าแม่ได้ล่วงลับไปเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ (สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี) หลังจากนั้นประมาณ ๗-๘ วัน เจ้ากุลวงศ์ ผู้เป็นทายาทคนหนึ่งได้ฝันว่า เจ้าแม่ขอให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ ณ ที่สูงเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาจากระยะไกลได้ ในฝันเจ้ากุลวงศ์ ได้ถามเจ้าแม่ว่าท่านให้ชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่าอย่างไรดี เจ้าแม่ตอบว่า แล้วแต่ลูกจะเห็นสมควร เจ้ากุลวงศ์ตอบไปทันทีโดยไม่ได้คิดมาก่อนว่า จะให้ชื่อว่า พระพุทธนพีสีพิงครัตน์ (มีความหมายว่า พระพุทธรูปอันเป็นแก้วที่ประเสริฐของเมืองเชียงใหม่) และเมื่อเจ้ากุลวงศ์ได้เล่าเรื่องความฝันให้พี่น้องฟัง ทุกคนต่างปีติศรัทธาเห็นชอบการจัดสร้างพระพุทธรูป และได้รวบรวมเงินเป็นค่าจัดสร้าง ๔๕๐,๐๐๐ บาท

ต่อมาเจ้ากุลวงศ์ได้ไปนมัสการท่านพระครูศรีปริยัติยานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนดอก และปรารภเรื่องการจัดสร้างพระพุทธรูป ท่านได้แนะนำให้สร้างไว้บนพระธาตุดอยคำ เพราะเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่บนสูง จะเป็นศรีสง่าแก่จังหวัดเชียงใหม่ไปในอนาคต และท่านพระครูได้มีเมตตาติดต่อขออนุญาตก่อสร้างจากกองบิน ๔๑ เชียงใหม่ และกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

สำหรับตำแหน่งการก่อสร้าง เป็นมูลดินสูงทิศตะวันตกหน้าวัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งเป็นที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้ปลูกที่พักสำหรับดูแลคนงาน ระหว่างที่ท่านคุมการสร้างวิหารและซ่อมแซมวัดพระธาตุดอยคำ การก่อสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๓๑ แล้วเสร็จต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ และมีงานฉลองสมโภชพุทธาภิเษกตามจารีตวัฒนธรรมประเพณีล้านนาไทย เมื่อวันที๗-๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔

ผู้ควบคุมการก่อสร้างพระพุทธรูป คือคุณชัยพันธ์ ประภาสวัต ซึ่งสำเร็จด้านปติมากรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคค่าก่อสร้าง เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก อาทิคุณสุรีย์พร คองประเสริฐ บริจาค ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างลานหน้าพระพุทธรูป และครอบครัวคุณเกรียง เฉลิมสุภาคุณ ออกทุนทรัพย์เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างฉัตรถวายองค์พระซึ่งเมื่อนำฉัตรขึ้นกางถวายได้ระยะหนึ่ง มีพายุพัดฉัตรตกลงมาชำรุด จึงได้ซ่อมแซมแล้วนำไปประดับหน้าพระพุทธรูปแทน สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมเป็นจำนวนประมาณหนึ่งล้านนาบาทเศษ

http://www.thaitravelcommunity.com



| ป้ายตัวอักษรสแตนเลส | ป้ายตัวอักษรสังกะสี | ป้ายตัวอักษรทองเหลือง | ป้ายตัวอักษรทองแดง | อักษรโลหะ | ป้ายกล่องไฟ | สมัครงาน
 
Graphicproduce Co.,Ltd.
Tel/FAX:02-538-6823 Mobile:081-866-8060 E-mail: [email protected]
ที่อยู่: 5/4 หมู่บ้านกู๊ดวิลล์ ซอยนาคนิวาส 30 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230